Sunday, November 15, 2015

พระภิกษุที่กลายเป็นมหาเศรษฐี


นายคาซูโอ อินาโมริ (Mr. Kazuo Inamori) ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติคุณของบริษัท เคียวเซอรา คอร์เปอเรชัน นักบริหารธุรกิจผู้มากความสามารถจนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องไปขอร้องถึงออฟฟิศให้มาช่วยพลิกฟื้นสายการบินแจแปนแอร์ไลน์ส (แจล) ตอนที่ขาดทุนอย่างหนักซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 77 ปีแล้ว
นายอินาโมริ เป็นมหาเศรษฐีที่เคยตัดสินใจทิ้งธุรกิจเพื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซ็นอยู่ระยะหนึ่ง
นอกจากเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเคียวเซอราฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซรามิกเทคโนโลยีสูงในปี 2502 แล้ว นายอินาโมริ ปัจจุบันอายุ 83 ปี ยังก่อตั้งบริษัทโทรศัพท์ KDDI ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 64,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท) และเป็นผู้ผ่าตัดสายการบินแจลที่กำลังจะล้มละลายในปี 2553 จนกลับมามีกำไรภายในปีเดียว ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสายการบินมาก่อน กลายเป็นผู้บริหารธุรกิจที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นมีสินทรัพย์สุทธิหลายหมื่นล้านบาท
ปูมหลังระบุว่าหลังจากทำงานหนักอยู่นานจน บริษัท เคียวเซอรา ตั้งมั่นได้แล้วนายอินาโมริ ลาออกจากตำแหน่งบริหารและเป็นประธานอย่างเดียวเพื่อไปบวชเป็นพระภิกษุในปี 2540 อาศัยอยู่ในวัดระยะหนึ่ง ก่อนจะสึกและกลับเข้าสู่วงการธุรกิจอีกครั้งและกลายเป็นนักบริหารที่มีปรัชญาในการบริหารที่น่าศึกษามากที่สุดคนหนึ่งของโลก
ความจริงคุณอินาโมริ เลื่อมใสในพุทธศาสนามาตั้งแต่เป็นหนุ่มและใช้หลักศาสนาในการบริหารธุรกิจมานานแล้ว ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า มุมมองในการบริหารธุรกิจของผู้ก่อตั้งเคียวเซอราฯ ท่านนี้แตกต่างจากตำราบริหารธุรกิจของค่ายตะวันตกอย่างสิ้นเชิง
นายอินาโมริ พูดถึงหลักการบริหารธุรกิจที่เน้นไปที่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด ‘ใช้เวลาทั้งหมดที่คุณมีอยู่ทำให้พนักงานบริษัทมีความสุข ถ้าคุณต้องการไข่ คุณต้องดูแลแม่ไก่ให้ดี ถ้าคุณทำร้ายหรือฆ่าแม่ไก่ คุณไม่มีทางได้อะไรที่ต้องการ’
ในการพลิกฟื้นสายการบินแจล ให้กลับมามีกำไร คุณลุงอินาโมริ ประกาศรับตำแหน่งซีอีโอ โดยไม่รับเงินเดือนจากนั้นก็พิมพ์สมุดเล่มเล็ก ๆ อธิบายถึงปรัชญาในการบริหารและใช้ชีวิตในวิถีพุทธแจกให้กับพนักงานทุกคน สอนให้พนักงานรู้จักถ่อมตนและทำในสิ่งที่ถูกต้องในชีวิตพร้อมกับทุ่มเทให้กับการเจริญเติบโตของบริษัท ซึ่งนายอินาโมริ ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กในภายหลังว่า เขาต้องการเปลี่ยนวิธีการคิดของพนักงานทั้งหมดเพื่อทำให้พนักงานภูมิใจในตัวเองและพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อบริษัท
อินาโมริ พูดว่า ‘ผู้นำของบริษัทจะต้อง พยายามทำให้พนักงานทั้งหมดมีความสุขทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กร ไม่ใช่ทำงานเพื่อผู้ถือหุ้น’ และ ‘การทำให้พนักงานมีความสุข พนักงานจะทำงานดีมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้รายได้ขององค์กรเพิ่มและบริษัทไม่ควรจะละอายในการทำผลกำไรให้ได้มาก ๆ หากว่าธุรกิจของบริษัทมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้น’
บลูมเบิร์ก ระบุว่า ปรัชญาการบริหารงานของนาย อินาโมริ ซึ่งไม่ใช่ทุนนิยมจ๋า เป็นผลิตผลของวัฒนธรรมสังคมของญี่ปุ่นที่ไม่ต้องการให้มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากเกินไป เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมของตะวันตก
ทุกวันนี้ ปรัชญาในการบริหารงานของนายอินาโมริ กลายเป็นสถาบันไปแล้ว ทุกครั้งที่นาย อินาโมริ เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับปรัชญา การบริหารงานของเขาซึ่งแตกต่างจากตำราเรียนในมหาวิทยาลัยทั้งในญี่ปุ่นและตะวันตก มีเจ้าของกิจการหลายพันคนเข้าฟังแน่นห้องเรียนเสมอ
นาย อินาโมริ พูดว่า เขาเล็คเชอร์ ปรัชญาการบริหารงานสไตล์ทุนนิยมผสมพุทธของเขา ให้กับผู้ฟังฟรีโดยไม่คิดเงิน ถือเป็นการตอบแทนต่อสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของเขา
Credit: http://www.thansettakij.com/2015/11/11/17770

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...