Tuesday, July 28, 2015

มองหุ้นกลุ่ม Healthcare (1)

ช่วงนี้ต้องยุ่งเกี่ยวกับโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ
ถือโอกาสศึกษาธุรกิจโรงพยาบาล และ Healthcare มันซะเลย
 
เริ่มต้น แปะข้อมูล Comment ที่น่าสนใจสำหรับหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจาก พี่ leky thaivi ครับ
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=14&t=50610&start=1740
leky wrote:
เห็นคุณลูกหินพูดถึงเรื่องหุ้นรพ. ผมเลยอยากจะแชร์หน่อยครับ
อันนี้เป็นมุมมองของผมนะครับ อาจจะเอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาด้วย

ผม ว่าประเด็นที่หุ้นรพ.กลายเป็นหุ้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็น Super stock นั้น ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเมกาเทรนด์จริงแต่ส่วนหนึ่งผมคิดว่ามันก็มีกระแส เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ อาจจะเรียกได้ว่า 1+1 มันไม่ใช่เท่ากับ 2 แต่มันกลายเป็น 3 หรือ 4

ผมเองทันเห็นหุ้นรพ.ที่สมัยหนึ่ง ตลาด "ไม่เอา" บางตัวเจอหนี้จากยุคปี 40 ทันเห็น CPALL สมัยที่ยังเป็น CP7-11 ตัวหลังนี้ตอนนั้นผมยังคิดอยู่เลยว่าทำไมคนถึงไม่เล่นกัน ตัวเองก็เคยซื้อที่ 46 บาท น่าจะ low มากในตอนนั้น แต่ตอนนั้นเป็นมุมของคนที่ "เล่นหุ้น" นะครับ

จริงอยู่ครับ แนวโน้มของคนไทยเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ ตรงนี้เป็นเมกาเทรนด์แน่ ๆ แบบในญี่ปุ่นหรือบางประเทศ

แต่ สิ่งที่ต้องระวังไว้อย่างหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นคนพูดถึงกันซักเท่าไหร่ก็คือ "โครงสร้างของลักษณะการจ่ายเงินของผู้ป่วยในรพ.เอกชน" ครับ

ต้อง เข้าใจนิดหนึ่งครับ ว่าถ้าจะดูที่การเติบโตจากการสร้างรพ.แห่งหนึ่งแล้วค่อย ๆ ทำให้มีคนไข้เข้ามารักษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กรณีแบบนี้ทำได้ "ไม่ง่าย" นักครับ ผมว่าเติบโตปีละ 10% ก็ถือว่าเก่งแล้วครับ ถ้าเอาแบรนด์เป็นจุดเสริมหาคนไข้ต่างชาติเข้ามา ผมว่าตัวเลขก็คงดีกว่านี้ไม่มากนัก ยังไม่นับว่าจริง ๆ รพ.นี่แหละครับ ยอดผู้ใช้บริการขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ผมเคยคุยกับแพทย์ท่านหนึ่งที่อยู่รพ.เอกชนในยุคปี 40 เค้าบอกว่า รพ.คนไข้น้อยมาก ดูสิ้นหวังมากครับ

ถ้าเราย้อนไปดู ผมว่ารพ.เอกชนเจ้าใหญ่ ๆ ทุกวันนี้ที่รายได้ดูโตมาก ส่วนหนึ่งเลยเพราะเค้าใช้วิธีซื้อกิจการครับ รวมถึงการควบรวม การซื้อกิจการที่แบรนด์ด้อยกว่า เปลี่ยนเป็นแบรนด์ที่มันดูดีกว่า แต่ทีมหมอยังเป็นชุดเดิม ส่วนค่ารักษานี่ผมไม่แน่ใจว่าจะอัพตามมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ครับ เป็นกลยุทธที่ทำให้กำไรดูเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแท้จริง

ถ้าย้อนมา ดูเรื่องลักษณะโครงสร้างทางรายได้ที่ผมบอกไป สิ่งที่จะทำให้รพ.ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นก็ คือ คนไข้กลุ่มที่เรียกกว่ากลุ่มเงินสดครับ หมายถึงควักเงินจ่ายเอง ไม่ได้ใช้ประกันชีวิตหรือสิทธิ์การรักษาอย่างอื่น ๆ

ที่ผมต้องบอกอ ย่างน้้นก็เพราะว่าทุกวันนี้โครงสร้างทางรายได้ของรพ.แต่ละโรงมันมีความแตก ต่างกันครับ บางรพ.เน้นกลุ่มคนไข้ประกันสังคม บัตรทอง ซึ่งตรงนี้มาร์จิ้นต่ำ เน้นการบริหารต้นทุน เพราะได้เงินจากรัฐมาก้อนใหญ่ แต่ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เงินเหลือ

บางรพ.สัดส่วนคนไข้กลุ่มที่เบิก ค่ารักษาจากประกันชีวิตกับเงินสด สัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งในส่วนของกลุ่มประกันชีวิตนั้น ส่วนหนึ่งเป็นประกันที่ทำส่วนตัว แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งก็ใหญ่ไม่แพ้กันก็คือประกันกลุ่มที่มาจากบ.ต่าง ๆ ที่คุ้มครองพนักงาน ซึ่งทำให้คนไข้จำนวนไม่น้อย ใช้สิทธิ์ประกันตรงนี้แทนที่จะเป็นพวกบัตรทอง ประกันสังคม

นั่นก็แปล ว่าสิทธิตรงนี้มันมีความไม่แน่นอนอยู่ครับ เช่นถ้าย้ายที่ทำงานเค้าอาจจะไม่มีสิทธิ์ตรงนี้แล้ว กลายเป็นประกันสังคม แนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปรพ.อื่นก็มีครับ หรือแม้แต่ประกันส่วนตัว ถ้าวันหนึ่งจ่ายไม่ไหว หรือประกันครอบคลุมโรคค่าใช้จ่ายสูงไม่ได้ สุดท้ายก็ไปรพ.รัฐหรือกลับไปใช้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานคือ บัตรทองและประกันสังคมครับ

ผมเข้าใจว่าการที่เศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็ยอมควักเงินทำประกันให้พนักงานด้วยเช่นกันครับ หรือบางบ.ก็มีงบตรงนี้ให้พนักงานไปเลยซึ่งก็มักจะเป็นบ.ใหญ่ ๆ บางบ.ก็ใช้สองอย่างเพื่อลดความเสี่ยง

ถ้าย้อนกลับมาดู คนที่จะเดินเข้ารพ.เอกชนแล้วจ่ายเงินได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งสิทธิ์การรักษาต้องเป็นคนที่ "มีเงินเก็บ" พอสมควร เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมว่ากว่าครึ่งถ้าเจอความเจ็บป่วยที่รุนแรงและใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากจริง ๆ มัก "สู้ไม่ไหว" ครับ ยกตัวอย่างเช่นต้องนอน ICU ซึ่งค่าใช้จ่ายตกวันละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ถ้าต้องยาวนานต่อเนื่องและสิทธิ์ที่ครอบคลุมอยู่ไม่พอ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะต้องขอไปรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานครับ

ซึ่ง ถ้าย้อนกลับมาดูอีกครั้ง จะเห็นว่ากลุ่มคนสูงอายุโดยเฉพาะที่อายุเกิน 70 ปี นี่แหละครับ คือกลุ่มที่มีความเสี่ยง เสี่ยงที่จะมีค่าใช้จ้ายที่สูง และที่สำคัญเสี่ยงที่จะไม่มีสิทธิ์อะไรอย่างอื่นนอกจากสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ในกรณีที่เงินเก็บมีไม่มาก เพราะในกรณีประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยครอบคลุมอายุที่เกิน 70 ยกเว้นจ่ายเบี้ยมากจริง หรือประกันสังคมซึ่งผมว่าก็ยังไม่น่าจะครอบคลุมนานขนาดนั้น

สิ่งที่ เกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือ ในอนาคต รพ.รัฐมีคนไข้เยอะขึ้นแน่ ๆ ครับ ด้วยเหตุผลว่า คนสูงอายุไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเงินก็ต้องไปรพ.รัฐ เพราะถ้ามีเงินค่าใช้จ่ายก็ต่ำกว่า เพียงแต่ต้องทนกับคนไข้ที่เยอะกว่า ถ้าไม่มีเงินก็ใช้สิทธิข้าราชการ บัตรทอง

ส่วนรพ.เอกชน การเติบโตก็คงยังมีครับ เพราะถ้าโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่รุนแรง คนก็ยังอยากไป แต่จะโตมาก ๆ เลยนั้นผมยอมรับว่าไม่แน่ใจ ยกเว้นว่าคนไทย "โดยรวม" รวยขึ้นมาก เงินเก็บเยอะมาก แต่การที่คนไทยมีแนวโน้มมีลูกลดลง บางครั้งมันก็อาจจะมีผลถ้าตัวหารค่าใช้จ่ายด้านการเจ็บป่วยของพ่อแม่ก็ลดลง ตาม

แต่อย่างน้อยถ้าการลงทุนของรพ.เอกชนลดลง ค่าเสื่อมถูกตัดออกน้อยลง EPS ก็คงดีขึ้นในอนาคต แต่ PE จะยืนที่จุดสูง ๆ แบบเดิมหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง

สิ่งที่อาจจะเป็นตัวเร่งให้รพ.เอกชนโตได้ ผมมองว่าต้องเป็นนโยบายระดับใหญ่ ๆ เลยครับ เช่น

1) ยกเลิกบัตรทอง ให้คนไทยทำประกันชีวิต ซึ่งก็แน่นอนว่าจะไปรพ.รัฐหรือเอกชนก็ได้ ซึ่งผมว่าคงเกิดขึ้นได้ยาก
2) คนที่มีสิทธิ์การรักษาอื่น เช่น ข้าราชการ สามารถไปรักษาที่รพ.เอกชนได้ และเบิกได้ในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ แต่รพ.เอกชนหลายแห่งมองว่าไม่ค่อยคุ้ม เนื่องจากการเบิกเป็นราคากลาง รพ.ห้าดาวค่ารักษาแพงกว่าราคากลางมาก

สิ่งที่อาจจะเป็นตัวถ่วง

1) บุคลากรขาดแคลน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้มันก็เริ่มเกิดขึ้นแล้วนะครับ
2) แนวโน้มการฟ้องร้องสูงขึ้น ทำให้มีการตรวจมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการมารพ.ของคนไข้สูงขึ้น

มองอีกมุมหนึ่ง ยิ่งรพ.เอกชนโตมาก รพ.รัฐอาจจะแย่ลงเพราะบุคลากรสมองไหล

มอง อีกมุมหนึ่ง รพ.เอกชนโตขึ้น แต่ผู้ใช้บริการอาจจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ไม่ใช่เป็นลักษณะของ economy of scale แบบธุรกิจอื่น ๆ

ที่ต้องระวังคือ กับดักเรื่องความรู้สึกของรายได้ที่โตขึ้นมากของหุ้นในกลุ่มนี้ จากการซื้อและควบรวมกิจการ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่หยุดซื้อ รายได้จะไม่โตก้าวกระโดดแบบเดิม

ที่ต้องระวังอีกเรื่องหนึ่งก็คือ "ค่าพรีเมี่ยม" ที่ตลาดให้กับหุ้นกลุ่มนี้ ถ้าวันหนึ่งค่าพรีเมี่ยมนั้นลดลง เช่นมุมมองว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่โตแบบก้าวกระโดดแบบเมื่อก่อน

บางครั้งอาจจะทำให้เราได้หุ้นดี แต่ไม่ใช่การลงทุนที่ดีครับ โดยเฉพาะการซื้อหุ้นที่ราคาสูงครับ

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...