Tuesday, April 12, 2011

สุข ทุกข์ ตัวเดียวกัน


บทความนี้คัดมาจากหนังสือ "ปัญหาไม่มา ปัญญาก็มี" ซึ่งได้รับมาจากรุ่นพี่ที่บริษัทครับ  โดยอ่านบทแรกก็ได้แนวคิดที่โดนใจ  เลยขอ Share เนื้อหาบทนี้เต็มๆ แบบไม่มีตัดทอน ครับ

สุข ทุกข์ ตัวเดียวกัน  หลายคนบอกว่า  ความสุขกับความทุกข์  เป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน  ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน  และก็ไม่มีใครเลือกเป็นทุกข์  ทุกคนชอบและขวนขวายให้ได้ความสุขมาเป็นของตัวเองกันทั้งนั้นให้ได้ความสุขมาเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น  แต่น้อยคนที่จะมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่าแท้จริงแล้ว  ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ก็คือตัวเดียวกัน  ที่เรามองเห็นว่าสุข  ที่จริงคือความทุกข์ที่ได้รับการตอบสนอง  ทำให้ความทุกข์ที่เคยมีนั้นลดน้อยลง  ทุกๆอย่างมีเหตุผลเป็นตัวที่ทำให้เกิดขึ้น
ตัวอย่างง่ายๆ  เวลาที่ร่างกายต้องการพลังงาน  เกิดอาการหิวก็ต้องกิน  ความหิวคือความรู้สึกทุกข์  เมื่อหาอาหารมากินจนอิ่ม  เท่ากับว่าได้บำบัดระงับความทุกข์นั้น  แต่คนเรามักมองไม่ออกหรือคิดไม่ทันคิด  จึงคิดเอาเองว่ากินเพื่อความสุข  แต่ที่จริงความสุขจากการกินมันอร่อยแค่ตรงลิ้น  พอกลืนลงคอไปแล้ว  ความอร่อยก็ถูกกลืนไปด้วย  ที่เรารู้สึกว่าเป็นความสุขจังอร่อยจังก็เพราะความทุกข์  ความหิว  ความอยาก  มันได้รับการบำบัดไปชั่วขณะหนึ่งจึงรู้สึกสบายขึ้น  จนพาลหลงกันไปว่าเรามีความสุข  พอสักพักเมื่อความทุกข์มันก่อตัวขึ้นมาอีก  เช่น  เรื่มหิวขึ้นมาอีก  หรือไม่หิวแต่ไปเจออาหารที่ดูน่าทาน  หรือได้ยินคนอื่นชื่นชมว่าร้านนั้นร้านนี้อร่อย  เราก็เกิดความอยากขึ้นมาอีก  เราก็จะวิ่งหาสิ่งนั้นมาบำบัดอีก  ที่เราเข้าไปติดใจมัน  เพราะเรากำลังติดความรู้สึกที่คิดปรุงแต่งไปตามความต้องการของเราเอง  แม้บางคนจะบอกว่า  ความอยากของเค้าก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร  เพราะมีปัจจัย (เงิน) พร้อมแลกเอาความรู้สึกเป็นสุขมา  แต่ถ้าเราลองแยกแยะความเป็นจริงโดยใช้สติและปัญญา  เราก็จะเข้าใจและรู้จักความพอดี  พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่  ไม่หลงทางไปกับอำนาจของกิเลสที่จะวนไปวนมาไม่สิ้นสุด
   พระอาจารย์ ว.วชิรเมธีกล่าวว่า  เราจะบริโภคปัจจัยสี่ด้วยคุณค่า 2 คุณค่า  คือ  1.คุณค่าแท้  2.คุณค่าเทียม  คุณค่าแท้ก็คือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น  ส่วนคุณค่าเทียมคือประโยชน์แฝงของสิ่งนั้น  พระพุทธศาสนาสอนให้เราใช้ชีวิตอยู่กับคุณค่าแท้  ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  ยานพาหนะ  บ้าน  ฯลฯ  เช่น  เรามีรถ  คุณค่าที่แท้จริงของรถ  คือใช้เป็นยานพาหนะ  ส่วนคุณค่าเทียมของมันก็คือ  ยี่ห้อนี้เป็นรุ่นที่เรานั่งแล้วตำรวจไม่กล้าจับ  หรือขับแล้วจากที่หน้าตาดูธรรมดาๆ ก็กลายเป็นสวย-หล่อขึ้นมาได้ในสายตาคนอื่น  ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า  การใช้ของแบรนด์เนมเป็นเรื่องผิด  ใช้ได้  ถ้าเรามีกำลังซื้อและไม่ไปเบียดเบียนใคร  แต่การที่จะใช้ชีวิตอยู่บนโลกโดยไม่รู้จักการใช้ชีวิต  โดยคำนึงถึงประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกอย่าง  จะทำให้เราเปลืองเวลา  เปลืองพลังงานความคิดไปกับวัตถุจนกระทั่งไม่มีเวลาทำอะไรเลย
   ในหลวงของเรา  ทรงใช้นาฬิกายี่ห้อใส่แล้วโก้ 40 ปี  ท่านไม่เปลี่ยนยี่ห้อ  ไม่ใช่ไม่เปลี่ยนเครื่อง  แต่ท่านยังใช้ยี่ห้อเดิมตลอด  ที่ไม่เปลี่ยนก็เพราะพระองค์เห็นว่า  ยี่ห้อนี้ใช้อย่างนี้มันมีประโยชน์มาก  ทรงคำนึงถึงประโยชน์เป็นหลัก  ไม่ได้ตามแฟชั่น  ท่านจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตตามความจำเป็น  ไม่ใช่ใช้ชีวิตตามความพอใจ
   สุขหรือทุกข์  เป็นผลจากสิ่งที่เราสมมติขึ้นมา  สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมันก็เป็นของมันอย่างนั้น  แต่เราเองต่างหากที่เป็นคนใส่ความรู้สึกลงไป  ถ้าสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้น  เราชอบ  เราถูกใจ  หรือเป็นไปตามที่คาดหวัง  ก็คือความสุข
   ในทางกลับกัน  เราไม่ชอบ  ไม่ได้ดั่งใจ  ความทุกข์ก็จะบังเกิดขึ้นในใจเราทันที  เพราะฉะนั้น  จะสุขหรือทุกข์  เป็นผลจากสิ่งที่เราเลือกมอง  เหมือนกระดาษแผ่นใหญ่สีขาวที่มีจุดสีดำๆปรากฎอยู่  ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพื้นสีขาว  ก็อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองแต่จุดสีดำๆ หรือพื้นที่สีขาวมากกว่ากัน

Saturday, April 2, 2011

"Approximately right >> precisely wrong"


ขอเริ่มต้น Blog แรก ด้วยแนวคิดดีๆ ที่ได้จากการอ่าน โดยตอนนี้กำลังเน้นการอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดทางธุรกิจและการลงทุนในตลาดหุ้น
ตลอด 50 ปีมานี้ หากถามว่าใครคือนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทุกคนคงคิดถึงชื่อ Warren Buffett ออกเป็นชื่อต้นๆ อย่างแน่นอน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับแนวคิดในการลงทุนและการทำธุรกิจของ Buffett  เลยได้ลองศึกษาประวัติของ Buffett จากหนังสือและ Website ต่างๆ  พอดูข้อมูลหลายๆแหล่ง ก็พบว่า  Buffett จะทำเขียนแนวคิดดีๆในการลงทุนเอาไว้ในรายงานผลประกอบการประจำปีของบริษัท Berkshire Hathaway ผมก็เลยได้ลองดาวน์โหลดมาอ่านดู แล้วก็พบว่ามีแนวคิดที่โดนใจอยู่หลายเรื่องทีเดียว แต่ประเด็นที่จะขอนำมา Share ในวันนี้ อยู่ใน Annual Report ปี 2010 ประมาณหน้าที่ 21 คือประโยคที่ว่า :
“We would rather be approximately right than precisely wrong.”
ผมลองนำแนวคิดนี้มาคิดให้ละเอียดก็พบว่า  สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนและการทำงานได้อย่างดีทีเดียว
อันดับแรก หากมองในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้น หากเทียบกับการที่คิดว่าเราจะเลือกลงทุนในบริษัทใดดี หรือลงทุนในหุ้นตัวไหน ก็คงต้องทำการบ้านมาก่อน โดยศึกษาพื้นฐานและปัจจัยที่จะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้ ไม่ใช่ใช้วิธีคาดเดาไปเองว่าซื้อแล้วหุ้นน่าจะขึ้น เพราะมีผู้รู้แนะนำมาให้ซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ ซึ่งหากศึกษาการลงทุนแนว Value Investment หรือ VI นั้น มีสิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือการประเมิน Intrinsic Value ของตัวหุ้น ซึ่งก็คือ บริษัทออกมาให้ได้ก่อน ซึ่งหากอ่านตาม Blog ต่างๆ ก็จะพบแหล่งความรู้มากมาย (ผมก็กำลังศึกษาอยู่ ยังไม่เชี่ยวชาญครับ)
สำหรับการประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานนั้น บางทีเราอาจพบว่าการแก้ปัญหาบางอย่าง (จริงๆ คือ ปัญหาส่วนใหญ่) จะไม่สามารถเทียบกับทฤษฎี หรือวิชาการ ได้ 100% สิ่งสำคัญที่จะต้องทำในขั้นตอนการแก้ปัญหาก็คือ การรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะใช้วิเคราะห์ปัญหา และยิ่งกว่านั้นคือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้มาให้แน่ใจก่อน ไม่อย่างนั้น ต่อให้มีกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาที่ดีเพียงใด แต่หากข้อมูลที่ได้มาผิดทั้งหมด ก็จะทำให้สรุปผิดได้ง่ายๆ เลยทีเดียว เหมือนวลีภาษาอังกฤษที่ยังติดหูอยู่ทุกวันนี้ก็คือ “Garbage in, Garbage out” นั่นเอง
และพอดีช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปอบรม วิชาทางสถิติเรื่อง Design of Experiment หรือ DOE เพื่อใช้หา Model สำหรับวางแผนการทดลองต่างๆ ซึ่ง อาจารย์ที่สอนก็ได้ให้แนวคิดอันหนึ่งซึ่งเป็นคำพูดของนักสถิติด้าน QC ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างตรงกับ Buffett ทีเดียวครับ
"Essentially, all models are wrong, but some are useful" -George Box
ซึ่งแนวคิดก็คือ Model คณิตศาสตร์ ที่ได้จากการทำการทดลองแล้ววิเคราะห์ จะ ผิด ทั้งหมด คือ ไม่ได้ตรงเป๊ะ แต่ Model เหล่านั้นบางส่วน (จริงๆ แล้วคือ ส่วนใหญ่) จะให้ข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ได้
วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อน และหากเพื่อนๆ คนไหน สนใจสามารถไปดาวน์โหลด Annual Report ของ Berkshire Hathaway มาอ่านกันได้ตาม Website ด้านล่างนี้ครับ
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...