Saturday, August 18, 2012

นิทานเซ็น เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย


นิทานเซ็น เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ

เรื่องที่หนึ่ง ซึ่งไม่อยากจะเว้นเสีย ทั้งที่ เคยเอ่ยถึงแล้ว วันก่อน คือ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย คือว่า อาจารย์ แห่งนิกายเซ็น ชื่อ น่ำอิน เป็น ผู้มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ และ โปรเฟสเซอร์ คนหนึ่ง  เป็น โปรเฟสเซอร์ ที่มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ ไปหา อาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษา พระพุทธศาสนา อย่างเซ็น ในการต้อนรับ ท่านอาจารย์ น่ำอิน ได้รินน้ำชา ลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์ มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ ก็พูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มัน ลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้ มันก็แสดงว่า โมโห ท่านอาจารย์ น่ำอิน จึงตอบว่า "ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไร ลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง" คือว่า เต็มไปด้วยความคิด ความเห็น ตามความ ยึดมั่นถือมั่น ของท่านเอง และมีวิธีคิดนึก คำนวณ ตามแบบ ของท่านเอง สองอย่างนี้แหละ มันทำให้เข้าใจ พุทธศาสนาอย่างเซ็น ไม่ได้ เรียกว่า ถ้วยชามันล้น
 
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิด เรื่องอะไรล้น อะไรไม่ล้น ได้อย่างไร ขอให้ช่วยกันหาหนทาง ในครั้งโบราณ ในอรรถกถา ได้เคย กระแหนะกระแหน ถึง พวกพราหมณ์ ที่เป็น ทิศาปาโมกข์ ต้องเอาเหล็กมาตี เป็นเข็มขัด คาดท้องไว้ เนื่องด้วย กลัวท้องจะแตก เพราะวิชาล้น นี้จะเป็นเรื่อง ที่มีความหมายอย่างไร ก็ลองคิดดู พวกเรา อาจล้น หรือ อัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น จนอะไรใส่ ลงไปอีกไม่ได้ หรือ ความล้นนั้น มันออกมา อาละวาด เอาบุคคลอื่น อยู่บ่อยๆ บ้างกระมัง แต่เราคิดดูก็จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ล้น นั้น คงจะเป็นส่วน ที่ใช้ไม่ได้ จะจริงหรือไม่ ก็ลองคิด ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น ก็คงเป็น ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ร่างกาย รับเอาไว้ได้ ก็คงเป็น ส่วนที่มีประโยชน์ ฉะนั้น จริยธรรมแท้ๆ ไม่มีวันจะล้น โปรดนึกดูว่า จริยธรรม หรือ ธรรมะแท้ๆ นั้น มีอาการล้นได้ไหม ถ้าล้นไม่ได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่ล้นนั้น มันก็ไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ ล้นออกไป เสียให้หมด ก็ดีเหมือนกัน หรือ ถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึก ก็ว่า จิตแท้ๆ ไม่มีวันล้น อ้ายที่ล้นนั้น มันเป็นของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ตัวจิตแท้ มันล้นได้มากมาย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่า จิตแท้คืออะไร อะไรควรเป็น จิตแท้ และอะไรเป็นสิ่ง ที่ไม่ใช่จิตแท้ คือ เป็นเพียง ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย นี่แหละ รีบค้นหาให้พบ สิ่งที่เรียกว่า จิตจริงๆ กันเสียสักที ก็ดูเหมือนจะดี
ในที่สุด ท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูง ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่า จิตแท้ หรือ จิตเดิมแท้ ซึ่งข้อนั้น ได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง จิตที่ประกอบด้วย สภาวะแห่งความว่างจาก "ตัวกู-ของกู" นั้นแหละ คือ จิตแท้ ถ้าว่างแล้ว มันจะเอาอะไรล้น นี่เพราะเนื่องจากไม่รู้จักว่า อะไรเป็นอะไร จึงบ่นกันแต่เรื่องล้น การศึกษาก็ถูกบ่นว่า ล้น และที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ ที่พูดว่า ศาสนานี้ เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนล้น คือส่วนที่เกิน คือ เกินต้องการ ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาสนใจ เขาคิดว่า เขาไม่ต้อง เกี่ยวกับศาสนา หรือธรรมะเลย เขาก็เกิดมาได้ พ่อแม่ก็มีเงินให้ เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน เรียนเสร็จแล้ว ก็ทำราชการ เป็นใหญ่เป็นโต ได้โดยไม่ต้อง มีความเกี่ยวข้อง กับศาสนาเลย ฉะนั้น เขาเขี่ยศาสนา หรือ ธรรมะ ออกไปในฐานะ เป็นส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น นี่แหละ เขาจัดส่วนล้น ให้แก่ศาสนาอย่างนี้ คนชนิดนี้ จะต้องอยู่ ในลักษณะที่ ล้นเหมือน โปรเฟสเซอร์คนนั้น ที่อาจารย์น่ำอิน จะต้อง รินน้ำชาใส่หน้า หรือ ว่ารินน้ำชาให้ดู โดยทำนองนี้ทั้งนั้น เขามีความเข้าใจผิดล้น ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม มันล้นออกมา ให้เห็น เป็นรูปของ มิจฉาทิฎฐิ เพราะเขาเห็นว่า เขามีอะไรๆ ของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนที่เป็นธรรมะ เป็นจริยธรรมนี่ เข้าไม่จุ อีกต่อไป ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า นี้แหละ คือ มูลเหตุที่ทำให้จริยธรรม รวนเร และ พังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว จะต้องสนใจเรื่องนี้

นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา

ที่มา : http://www.buddhadasa.com/zen/zen01.html

Sunday, August 12, 2012

Never-Never Land [Super Stocks ภาค 2]

Never-Never Land

ยังจำภาพความทรงจำในสมัยเด็กกันได้ไหม ;p
ภาพเด็กหนุ่มที่ชื่อ "ปีเตอร์แพน" เด็กที่มีพลังพิเศษ สามารถบินได้ และสามารถปฏิเสธ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พร้อมด้วยนางฟ้า "ทิงเกอร์เบล" มาชักชวนสาวน้อย "เวนดี้" ให้ไปช่วยดูแลเหล่าเด็กกำพร้าในเกาะที่เขาอาศัยอยู่ เป็นเกาะแห่งความฝันกลางทะเลแดนไกล ซึ่งมีชื่อว่า "Never Land" ซึ่งท่ามกลางภาพลักษณ์ที่สวยงามของ "เกาะแห่งความฝัน" นั้น ก็แฝงไปด้วยภัยร้ายต่างๆ ที่พวกเขาจะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น เหล่าโจรสลัดที่มี "กัปตันฮุค" เป็นแกนนำ และจระเข้ 'ติ๊กต๊อก' ที่แสนจะดุร้าย?
ซึ่งในท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถเอาชนะโจรสลัด และอยู่ใน Never Land อย่างสงบสุข...

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อ.Ken Fisher ก็บอกว่าในตลาดหุ้น ก็มี Never Land อยู่เหมือนกัน แต่เป็น never-never land แล้วไอ่ never-never land นี่มันคืออะไร? ไปดูกันครับ

เท้าความตอนที่แล้วกันหน่อย
(หากท่านใดยังไม่ได้อ่าน ลองไปอ่านได้ที่
http://kongkiti.blogspot.com/2012/08/my-notes-super-stocks-kenneth-l-fisher.html)
หนังสือ Super Stocks มีผลการศึกษาที่ว่า บริษัทขนาดเล็กอาจมี PSR อยู่ในช่วงที่กว้างมาก แต่พอบริษัทใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ค่า PSR ก็จะมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งในหนังสือก็ได้นำเสนอผลงานวิจัยนี้ ตามตารางด้านล่าง

สิ่งที่น่าสนใจจากตารางนี้
- แสดงจำนวนบริษัท ที่มี ยอดขาย และ PSR อยู่ในช่วงต่างๆ
- ยกตัวอย่าง บริษัท ที่มียอดขายอยู่ในช่วง 0-100 ล้านเหรียญสหรัฐ ทีี่มี PSR = 0-1 มีจำนวน 8 บริษัท (จากทั้งหมด 117 บริษัท)
- แสดงประ ทะแยงมุม ในตาราง คือเส้นแสดงขอบเขตระหว่างบริษัทส่วนใหญ่ และส่วนน้อย โดยกลุ่มบริษัทส่วนน้อยซึ่งอยู่ทางขวาล่างของตาราง Ken Fisher ให้ชื่อเรียกว่า "never-never land" หรือดินแดนที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว (ซื้อหุ้น)
- Logic ก็คือ หุ้นที่อยู่ใน never-never land เป็นหุ้นที่ราคาเทียบกับมูลค่าของกิจการค่อนข้างแพง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาหุ้นจะไม่สามารถเพิ่มได้อีก แต่จะมีโอกาสที่จะ "overprice" คือ อาจได้ไม่คุ้มเสีย
- ตารางนี้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่า ยิ่งบริษัทเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้ม PSR ที่ตลาดให้ ก็จะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ คือ บริษัทใหญ่ๆ จะมาคาดหวังให้เติบโต 30% ต่อปี ต่อเนื่อง ก็ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างง่ายๆ บริษัทขนาดเล็ก ยอดขาย 1,000 ล้านบาท เติบโต 30% ก็ 300 ล้านบาท ก็น่าจะเป็นไปได้ แต่หากบริษัทขนาดใหญ่ยอดขาย 100,000 ล้านบาท หากจะเติบโต 30% ก็จะต้องทำยอดขายเพิ่มถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบการเติบโตเฉพาะในประเทศอย่างเดียวก็อาจจะค่อนข้างยาก ยกเว้นว่าจะเป็น Super Company จริงๆ 

จากตารางนี้ผมก็ลองทดสอบสมมติฐานเบื้องต้น โดยเอาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนทั้ง SET+Mai มาใส่ตารางดู ก็ได้ข้อมูลตามตารางด้านล่างครับ

- ข้อมูลในตารางใช้ ยอดขายปี 2011 ส่วนราคาตอนที่ดึงใช้ข้อมูลวันที่ 3/8/12 นะครับ อาจไม่เป๊ะซักทีเดียวแต่ก็พอดูเป็น Trend ได้ (ไว้ขึ้นปีใหม่จะดึงข้อมูลใหม่อีกที)
- จะเห็นได้ว่า ผลก็คล้ายๆ กับตารางในหนังสือ Super Stocks คือ Zone สีแดง never-never land ก็จะอยู่ทางขวาล่างของตาราง คือ มีบริษัทเพียงส่วนน้อย ซึ่งได้รับความคาดหวังสูง หรือ PSR สูง ลองยกตัวอย่าง บริษัทขนาดใหญ่ ยอดขาย > 100,000 MB ที่มี PSR = 4-5 ในตารางมี 2 บริษัทคือ SCB และ Advance
- จากข้อมูลนี้ หากลองนำไปตรวจสอบบริษัทที่อยู่ใน Port ของเราดูว่าอยู่ใน never-never land นี้ด้วยรึเปล่า หากใช่ ก็คงต้องคิดต่อว่าบริษัทที่ถืออยู่ ยังมีแนวโน้มการเติบโต ตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ และเป็น Super Company จริงๆ รึเปล่า หากได้คำตอบว่า "ไม่" ก็คงต้องทบทวนกันใหม่ ในทางกลับกัน หากเลือกบริษัทที่อยู่ใน Zone สีเขียว ก็ถือว่ามีความปลอดภัยในการลงทุนพอสมควร ซึ่งหากใช้ประกอบกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ก็น่าจะทำให้เราเจอ Super Stock ได้ง่ายขึ้นครับ

จากตอนที่ 1 และ 2 หวังว่าเพื่อนๆ จะได้เห็นประเด็น ความสำคัญของยอดขาย (รายได้) และการนำ PSR ไปใช้งาน ได้ไม่มากก็น้อย ไว้คราวหน้าจะมาสรุปประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องอัตราการทำกำไร ครับ

Saturday, August 4, 2012

[My Notes] Super Stocks : Kenneth L. Fisher

Super Stocks : Kenneth L. Fisher



วันนี้ขอแนะนำหนังสือการลงทุนที่เสนอวิธีการและแนวคิดในการลงทุนในหุ้นที่ค่อนข้างแตกต่างจากเล่มอื่นๆ ซึ่งคนเขียนก็ตั้งชื่อหนังสือได้อย่างน่าสนใจว่า "Super Stocks" ซึ่ง คำๆนี้ กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในเหล่า VI โดยเฉพาะสาวกท่าน อ.นิเวศน์ ซึ่งท่านก็แต่งหนังสือชื่อ  Super Stock : มหัศจรรย์ของหุ้น VI  เหมือนกันพอดีเลย กลับมาที่หนังสือ Super Stocks ของคุณ Ken Fisher กัน  ฟังดูชื่ออาจไม่คุ้นเท่าไหร่ แต่หากบอกว่าคุณ Ken Fisher แกเป็นลูกของ Philip Fisher ผู้แต่งหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits หลายๆ คน อาจร้องอ๋อก็ได้ โดย Philip Fisher ถือได้ว่าเป็นนักลงทุนที่เชี่ยวชาญด้าน Growth Stocks และถือได้ว่าเป็น อาจารย์ อีกคนหนึ่งของ Warren Buffett และ Ken Fisher เองก็นับได้ว่าเป็น ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น 

มาลองดูสิ่งที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ซัก 3 ประเด็นนะครับ
1. Super Stock vs Super Company
  • Super Stock นิยามได้ 2 ความหมาย คือ
    • หุ้นที่มีราคาเพิ่มขึ้น 3-10 เท่าตัว (3-10 เด้ง) เมื่อถือเอาไว้ 3-5 ปี
    • หุ้นของ Super Company (บริษัทที่ยอดเยี่ยม) ที่ซื้อในราคาที่เหมาะสม
  • Super Company มักจะมีคุณลักษณะดังนี้
    • Growth Orientation : ผู้บริหารและพนักงาน กระตือรือร้น ในการทำให้บริษัท ก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่อยู่นิ่งเฉยๆ (ทำเป็น Daily คือ ทุกวัน)
    • Market Excellence : รับรู้การเปลี่ยนแปลงของตลาด และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงประเด็น
    • Unfair Advantage : บริษัทมีความได้เปรียบคู่แข่ง (แบบทิ้งห่างคู่แข่งขันอย่างไม่เห็นฝุ่น) โดยส่วนใหญ่ได้แก่ การเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด หรือมีสิทธิขาดในการผลิตสินค้าที่เป็นรายได้หลักของบริษัท (Ken Fisher เน้นลงทุนใน Growth Stock ในกลุ่มสินค้า Technology)
    • Creative personnel relations : ประมาณว่า บริษัทมีวัฒนธรรมที่เห็นความสำคัญในคุณค่าของพนักงานแต่ละคน มีบรรยากาศการทำงานที่ดี กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา
    • The Best in Financial Controls : สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ หากผลประกอบการไม่ได้ตามเป้าหมาย
    • อื่นฯ ได้แก่ มี Margin (อัตราการทำกำไร) สูงเหนือคู่แข่ง, Market Share ต้องโตมากกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม (แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่ง)
2. PSR
  • Ken Fisher แนะนำให้ใช้ PSR (Price Sales Ratio) ดูความถูกหรือแพงของหุ้นแทน PE (Price to Earning), P/BV (Price to Book Value) โดยหากซื้อที่ PSR ที่เหมาะสม ก็อาจเจอ Super Stock ก็ได้
  • PSR = Market Cap. / Sales
    • Market Cap. = ราคาต่อหุ้น x จำนวนหุ้นทั้งหมด
    • Sales = ยอดขาย หรือ รายได้ ของบริษัท (เบื้องต้นก็ดูจากยอดขายปีที่ผ่านมาก่อน)
  • PSR มีข้อดีเนื่องจาก 
    • Sales หรือ ยอดขาย นับว่าเป็น "เหตุ" ในการประกอบธุรกิจ ส่วน Earning หรือ กำไร นั้น เป็น "ผล" ซะมากกว่า คือเกิดขึ้นทีหลัง โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจ หรือบริษัทที่ขยาย Line การผลิตใหม่ ก็มักจะมีต้นทุนต่างๆ ในการ Start-up ทำให้กำไรอาจดูน้อยในช่วงต้น และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น (หากมาถูกทาง) การลงทุนในหุ้นก็เหมือนการทำธุรกิจ คือจะต้องมองดูยอดขาย และอัตราการทำกำไรด้วย
    • บริษัทที่ประสบการขาดทุนชั่วคราว หรือพวก Commodity บางทีก็ดู PE ลำบาก เพราะปีนั้นๆ อาจมี Earning น้อยมาก หรือติดลบ การใช้ PSR ดูประกอบกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ก็อาจช่วยได้ดี
  •  หากลองนำ PSR มา ดูความสัมพันธ์เทียบกับ Net Profit Margin-NPM (อัตรากำไรสุทธิ) ของบริษัทก็จะได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ตามตารางด้านล่าง
    • ข้อมูลในตารางที่เป็นผลจากความสัมพันธ์ระหว่าง PSR และ NPM คือ ค่า PE
    • ตัวอย่างหากเราซื้อบริษัทที่ PSR = 1 และบริษัทนั้นมี NPM = 10% ก็จะได้ค่า PE = 10
      • PSR = Price/Sales = 1
      • NPM = Net Profit (Earning)/Sales = 10%
      • PE = Price/Earning = PSR/NPM = 10
    • จะเห็นได้ว่าหากเราซื้อหุ้นที่ PSR สูงๆ เช่น PSR มากกว่า 3 และหากบริษัทผลิตสินค้่าที่ทำกำไร ได้ 12% ก็จะทำให้มีค่า PE สูงถึง 25 เท่า สมมติว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นมี PE ที่ 15 เท่า ก็จะเห็นได้ว่า เราซื้อหุ้นในราคาที่แพงมาก และการที่บริษัทจะทำกำไรได้มากกว่า 12% ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจริงๆ เท่านั้น
 
  • มีผลการศึกษาอีกส่วนหนึ่งว่า บริษัทขนาดเล็กอาจมี PSR อยู่ในช่วงที่กว้างมาก แต่พอบริษัทใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ค่า PSR ก็จะมีแนวโน้มที่ลดลง (ตลาดมักจะคาดหวังว่าบริษัทขนาดเล็ก จะเติบโตเร็วกว่าขนาดใหญ่ ก็จะให้ PSR ที่สูง)
  • หลักเกณฑ์ในการใช้ PSR ประกอบการซื้อหุ้น
    • ระวังหุ้น ที่ PSR > 1.5 และอย่าซื้อหุ้น PSR > 3
    • มองหา Super Company ที่มี PSR น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.75 
    • ขาย Super Company ที่มี PSR 3-6
    • สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ 
      • ซื้อ เมื่อ PSR  น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.4
      • ขาย เมื่อ PSR มากกว่าหรือเท่ากับ 2
    • สำหรับบริษัทหมวดอุตสาหกรรม (Commodity)
      • ซื้อ เมื่อ PSR  น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.4
      • ขาย เมื่อ PSR มากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 ถึง 0.8 (ขึ้นกับคุณภาพกิจการ)
  • จริงๆ ยังมี PRR หรือ Price Research Ratio อีกด้วย โดยเหมาะสำหรับพวก Hi-Tech ซึ่งตลาดในเมืองไทย ไม่ค่อยมีบริษัทประมาณนี้ และไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลงบ R&D
  • สรุปหลักสำคัญ หากทำตามแล้ว โอกาสเจ็บตัว (ขาดทุน) จะน้อยลง อย่างมาก
    • ซื้อ เมื่อ PSR ต่ำ
    • หาก หา PSR ต่ำๆ ไม่ได้ ก็อยู่เฉยๆ

3. การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ
  • อันนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก Phil. Fisher ผู้พ่อ อย่างครบถ้วน ทั้งเรื่อง Scuttlebutt, การพบปะพูดคุยกับผู้บริหาร เป็นต้น ซึ่งผมว่า อ่านหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits จะได้อรรถรสมากกว่า
  • มีเรื่องการวิเคาะห์อัตราการทำกำไรของบริษัท ใครสนใจลองหาอ่านเพิ่มเติมดูครับ
ตัวเลขต่างๆ เป็นของเมืองนอก อาจต้องประยุกต์ใช้บ้างนะครับ PSR คงไม่เป๊ะๆ ขนาดนั้น และอ่านจบแล้วลองไปตรวจสอบ Port กันดูว่ามี Super Stock รึยังนะครับ!!

อ่านต่อ ภาค 2 >>

Monday, July 23, 2012

แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป (This too shall pass)

"แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป (This too shall pass)" วลีนี้เป็น วลีทีเด็ดในการลงทุนในหุ้นยามเกิดวิกฤต จะเอาไว้ปลอบใจคนติดดอย หรือเอาไว้เตือนสติ ให้อย่าหลงไปกับสภาพตลาดก็ตาม...ประกอบกับช่วงนี้เริ่มมีข่าวร้ายต่างๆ เข้ามา ทั้ง George Soros ก็ออกมาประกาศตั้งแต่เดือน มิ.ย.55 ว่าอีก 3 เดือน ยุโรป เจ๊งแน่ และสถานการณ์การเมืองในประเทศก็ยังดูคลุมเครืออยู่ ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร นักลงทุนหน้าใหม่ อาจไม่รู้ว่าจะลงทุนตอนนี้ดีหรือไม่ คนที่ลงทุนอยู่แล้วก็สองจิตสองใจว่าจะถือเงินสดเท่าไหร่ดี?

แต่คิดมากไปก็ปวดหัวเปล่าๆ แวะไปอ่าน Facebook ของท่าน ว.วชิรเมธี ได้ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับ วลีนี้ "This too shall pass" เลยเอามา Share ทุกคนครับ

ในอดีตมีพระราชาผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักร ฮีบรูพระนามว่าโซโลมอน พระราชาได้สั่งให้เจ้าเมืองทุกเมืองทำของวิเศษให้อย่างหนึ่งโดยของสิ่งนั้นต้องมีคุณสมบัติพิเศษคือ...ของสิ่งนี้ จะสามารถเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของพระราชาได้ "หากมีความทุกข์อยู่ก็จะหายจากทุกข์ หากมีความสุขอยู่ก็จะคลายความสุขลง ไม่ว่ากำลังร้องไห้อยู่หรือหัวเราะอยู่ก็จะสามารถหยุดอารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นได้"

เมื่อครบกำหนด เจ้าเมืองใหญ่เมืองใด ๆ ก็ไม่สามารถหาของตามที่พระราชาต้องการได้ แต่มีเจ้าเมืองเล็ก ๆ อยู่เมืองหนึ่งได้บอกว่ามีแหวนวิเศษมีคุณสมบัติอย่างที่พระราชาต้องการมาถวาย พระราชาจึงรีบให้มาเข้าเฝ้า เมื่อพระราชาได้เห็นแหวนวงนั้นแล้ว ปรากฏว่าเป็นเพียง แหวนทองธรรมดาเรียบ ๆ วงหนึ่ง พระราชาก็สงสัยว่าแหวนนี้จะมีความวิเศษได้อย่างไรกันเมื่อพระราชานำไปใช้ก็ปรากฏว่าแหวนวงนี้ สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของพระองค์ได้จริง ๆ ไม่ว่าพระองค์จะกำลังมีความสุขอยู่ก็ตาม เพียงเพราะแหวนนั้นมีข้อความสั้นสลักไว้ว่า

"แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป"

ยามใดที่พระราชามีความสุข ความยินดีหรือมีความทุกข์ ความโกรธ ความกังวลไม่สบายใจใด ๆ ก็ตาม เมื่อมองไปที่แหวนนี้ซึ่งเตือนสติพระองค์ว่า "แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป" ทำให้พระองค์เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์กำลังประสบอยู่ไม่ว่าสุขไม่ว่าทุกข์มันไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นมาแล้วก็จากไป นับตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็ไม่คิดที่จะนำความทุกข์มาเป็นกังวล มีความสุขก็ไม่ได้ยึดติดกับความสุขนั้น ทำให้พระราชาสามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและตั้งหน้าตั้งตาทำเพื่อประชาชนของพระองค์จนได้ขื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นที่รักใคร่ของประชาชน

ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องประสบกับโลกธรรม 8 คือได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ต้องมีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์เป็นธรรดาหากเราสามารถเตือนสติตนเองได้ว่า "แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป" ก็จะช่วยให้เราทำใจเป็นกลางทำใจเป็นปกติได้ เมื่อความรู้สึกต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น หงุดหงิด โกรธ น้อยใจ เสียใจ ขี้เกียจ วิตกกังวล หรือมีความรู้สึกตื่นเต้น ยินดีพอใจก็ตาม

ให้เรามีสติ ปรับปรุงลมหายใจยาวๆ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้เกิดความรู้สึกตัว รักษาใจเป็นกลางๆ ทำใจสงบและทำใจปล่อยวางว่า “แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป” เมื่อมีทุกข์ ทุกข์นั้นไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนำความทุกข์นั้นมาเป็นกังวล เมื่อมีสุข สุขนั้นก็ไม่จีรังยั่งยืนเช่นกัน เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง

จากหนังสือ โชคดี
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

Saturday, July 21, 2012

Learn from Buffett : เริ่มต้นคิดการใหญ่

ผมมีความเชื่อว่า หลายๆคน (เอ๊ะ หรือว่าทุกคน) มีความฝันที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน นั่นก็คือ การที่สามารถทำในสิ่งที่เราต้องการจะทำ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะไม่มีเงินใช้ หรือไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัว ซึ่งแนวทางที่จะได้มาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน ก็มีอยู่หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มลงทุนทำธุรกิจเอง, การทำธุรกิจห้องเช่า, ซื้ออสังหาริมทรัพย์พวกคอนโดต่างๆ ไว้ขายเก็งกำไร, หรือการลงทุนในหุ้น (มีมากกว่านี้อีกเยอะ)

สำหรับผมก็มีความฝัน ที่จะมีอิสรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน โดยตกลงปลงใจเลือกแนวทางการลงทุนในหุ้น และมี Idol ในดวงใจด้านการลงทุน ก็คือ Warren Buffett สุดยอดนักลงทุนของโลกในปัจจุบัน ซึ่งตัว Buffett เอง เป็นคนที่รักการลงทุนมาก และเก่งมากเรื่องการคำนวณตัวเลขต่างๆ หากใครยังไม่ทราบ อาจตกใจว่า Buffett เริ่มต้นลงทุนในหุ้น ตั้งแต่ อายุแค่ 11 ขวบ แล้วก็ลงทุนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็อายุได้ 83 ขวบกว่าแล้ว ซึ่งหลังจากที่ผมได้ศึกษาเรื่องราวการลงทุนของ Buffett มาสักพักใหญ่ ก็เลยอยากเขียนสรุป แนวทางการลงทุนของ Buffett เอาไว้ใน Blog นี้ เป็นการตกผลึกสิ่งที่เรียนรู้มา และแบ่งปันให้เพื่อนๆ ช่วย Share และ Comment กันครับ

สำหรับ Post นี้ขอสรุปกลยุทธ์การลงทุนของ Style Warren Buffett สำหรับผู้เริ่มต้น "คิดการใหญ่" เป็น 3 ข้อ ดังนี้ ครับ

1. พยายามหาเงินมาลงทุนให้เยอะที่สุด  
ในช่วงเด็กๆ Buffett พยายามหาเงินสารพัดวิธี เรื่องที่โด่งดังน่าจะเป็น ตอนที่ครอบครัวของเขาไปพักผ่อนที่ทะเลสาบแถวรัฐ Iowa ตอนนั้น Buffett ซึ่งมีอายุเพียง 6 ขวบ ได้ซื้อ Coke เป็น Pack 6 กระป๋องในราคา 25 cents (100 cents = 1$) แล้วก็เดินขายคนแถวนั้น ในราคากระป๋องละ 5 cents สรุปแล้วได้กำไรมา 5 cents (กำไรเกือบ17%) นับเป็นการหาเงินครั้งแรก ต่อจากนั้นก็ทำงานหาเงินเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น การเป็นพนักงานร้านขายของชำ (ของครอบครัว), เป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ Washington Post, หรือการซื้อ โต๊ะ Pinball มาตั้งแถวร้านตัดผมข้างบ้าน ก็ทำกำไรให้มหาศาล

สำหรับ จุดเริ่มต้นในการรวบรวมเงินมาลงทุนแบบจริงจังของ Buffett เริ่มปี 1956 ตอนนั้น Buffett ได้จัดตั้ง Buffett Associates, Ltd. (ตามคำร้องขอของเพื่อนบ้านให้ช่วยลงทุนให้หน่อย)  และต่อมาเปลี่ยนเป็น Buffett Partnership Limited (BPL)   โดยนำเงินไปลงทุนในหุ้น และตราสารอื่นๆ โดย BPL จะจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย 6% (หากปีนั้นๆ BPL มีกำไร) ให้กับหุ้นส่วน สำหรับกำไรส่วนที่เกิน 6% นั้น 3/4 จะจ่ายเพิ่มให้หุ้นส่วนปกติ และ 1/4 ของกำไรที่เกิน 6% ถือเป็นผลตอบแทนในการบริหารกองทุน (Buffett ได้เงินเพิ่มตรงส่วนนี้) ซึ่งในช่วงเริ่มต้น Buffett ลงเงินใน BPL เพียง $100 (โดยมีทรัพย์สินส่วนตัว ณ ตอนนั้น $140,000) จากนั้นก็บริหาร BPL และเติมเงินส่วนใหญ่ของเขาใน BPL ต่อเนื่องมาจนถึงปี 1969 (ผ่านไปประมาณ 14 ปี) มูลค่าสินทรัพย์ของ Buffett เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ($25,000,000) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 180 เท่า แต่แล้วเขาก็ได้ตัดสินใจยุบ BPL (โดยให้เหตุผลประมาณว่าตลาดตอนนั้นแพงมาก หาหุ้นถูกไม่เจอ) แล้วก็หันมาบริหารเฉพาะ Asset ที่เหลือหลังจากการยุบ BPL ก็คือ บริษัท Berkshire Hathaway  ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสิ่งทอเป็นหลัก ซึ่งตัวอุตสาหกรรมเองไม่ได้มีอนาคตที่สดใสเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นที่ Buffett ซื้อบริษัทนี้ เพราะต้องการกระแสเงินสดที่ค่อนข้างใช้ได้ นอกจาก Berkshire ก็ยังมีหุ้นของบริษัทอื่นๆ ด้วย ซึ่งเขาก็ใช้กระแสเงินสดจาก Berkshire นั่นเอง

หลังจากลงทุนไปเรื่อยๆ Buffett ก็ได้พบความมหัศจรรย์ของธุรกิจหนึ่ง ก็คือ ธุรกิจประกันภัย ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็พอรู้เกี่ยวกับธุรกิจนี้มาบ้างแล้ว โดยบริษัทที่เขามีความผูกพันมากก็คือ บริษัท GEICO เป็นบริษัทประกันภัยรถยนต์ในสหรัฐฯ ที่มีจุดเด่นคือ ต้นทุนที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม สำหรับจุดเด่นที่สำคัญของบริษัทประกัน ก็คือ เป็นธุรกิจ ที่ อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ยืมใช้ก่อน จะจ่ายคืนให้ก็ต่อเมื่อมี Claim ซึ่งหากมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีแล้ว ก็จะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างดี จะเรียกว่า เป็น "เครื่องปั๊มเงิน" ก็ได้ โดย Buffett เรียกเงินที่มาจากบริษัทประกันภัยที่เอาไว้สำหรับการลงทุนว่า "Float" เป็นเงินที่ไหลเข้ามาตลอดเวลา และหากนำไปลงทุนได้เหมาะสม "Float" ก็จะงอกเงยขึ้นไปอีก

นอกจากบริษัทประกันภัยแล้ว Buffett จะเลือกลงทุนในบริษัทที่ีมี Cash Flow ที่ดี และมีความสามารถในการแข่งขันสูง หรือเรียกว่ามี DCA (Durable Competitive Advantage) หากเปรียบเทียบการลงทุนของ Buffett ก็เหมือนการทำสงครามสร้างอาณาจักร ไล่ซื้อ บริษัท หรือ "เมือง" ที่มี "คูเมือง" (Moat) ที่ลึกพอ ศัตรูโจมตีได้ยาก โดย บริษัทที่เป็นขวัญใจตลอดกาล ก็คือ โค้ก (Coca Cola) ซึ่งทุกวันนี้เขาก็ยังดื่ม Coke Cherry เป็นประจำ (เมืองไทยไม่มีขายนะ เมื่อก่อนเคยขาย แต่ไม่ Work สงสัยว่าคนไทยจะชอบแบบซ่าๆ Coke Cherry ออกแนวหวานๆ)

2. ทำยังไงก็ได้ให้ผลตอบแทนชนะตลาดเสมอ หรืออีกนัยนึงคือ "อย่าขาดทุน" 
ช่วงที่ยังเป็น PBL เขาพยายามเน้นย้ำว่าในรายงานประจำปี ว่าแนวทางการลงทุนของเขา เป็นแบบ Conservative สุดๆ โดย Buffett ชอบเปรียบเทียบให้ดูเสมอๆ ว่า เขาพอใจผลงานในปีที่ตลาดติดลบ 20% แต่เขาติดลบเพียง 10% มากกว่าปีที่ตลาดมูลค่าเพิ่มขึ้น 30% แต่เขาทำได้เพิ่มขึ้น 35% ครับ (เลขไม่เป๊ะเหมือนที่ Buffett เขียน อย่าว่ากันนะครับ ยกตัวอย่างเฉยๆ)

กลยุทธ์การจัดแบ่ง Portfolio
Buffett จะแบ่ง Portfolio เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. "General" ก็คือ หุ้นปกติที่เราซื้อขายกัน ราคาขึ้นลงตามสภาพตลาด ถือประมาณ 60-70% ของ Asset ทั้งหมด ช่วงแรกเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า มูลค่าทางบัญชี (Book Value) ตามแนวทางของ อ.Graham แต่ภายหลัง Buffett ได้ไปเจอกูรูอีกท่าน คือ อ.Fisher ก็เลยปรับกลยุทธ์เป็นการซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยม ในราคาสมเหตุสมผล


2. "Work-outs" อันนี้คือ พวกไม่ปกติ คือ ขึ้นกับการกระทำต่างๆ ของบริษัทเอง ไม่ขึ้นกับภาวะตลาด ตัวอย่างเช่น การประกาศควบรวมกิจการ (Mergers), liquidations, reorganizations เป็นต้น พวกนี้จะมีกำหนดระยะเวลาลงทุนที่ค่อนข้างแน่นอน และส่วนใหญ่จะได้กำไรคิดเป็น % ไม่เยอะ แต่ Buffett คิดว่าปลอดภัยสูง เลยกู้เงินเพิ่ม (เหมือนใช้ Margin) มาลงทุนพวกนี้ด้วย กลุ่มนี้สมัยใหม่น่าจะเรียกว่าการทำ "Arbitrage"

3. "Control" คือ ไล่ซื้อหุ้นจนสามารถควบคุมกิจการได้ ดังนั้น ราคาหุ้น ก็จะไม่ถูกกำหนดโดยตลาดอีกต่อไป จะถูกกำหนดด้วยมูลค่าของ Asset ของกิจการ หรือความสามารถในการทำกำไรเอง พวกนี้ก็ซื้อเก็บไว้ดูเล่น ยาวๆ เลย ส่วนใหญ่กลุ่ม "Control" นี้ก็จะมาจาก กลุ่ม "General" ที่ซื้อจนควบคุมกิจการได้ ช่วงแรกๆ มีคนมาขอซื้อต่อก็ขาย แต่ตอนหลังกำไรส่วนใหญ่ของ Berkshire ก็มาจากผลประกอบการของบริษัทในเครือ

ด้วยกลยุทธ์ การจัด Portfolio แบบนี้ประกอบกับความสามารถในการประเมินมูลค่าธุรกิจของ Buffett ทำให้ผลการลงทุนของ Berkshire เหนือกว่าตลาดมาโดยตลอด โดยเฉพาะปีที่ตลาดติดลบ Berkshire ก็ยังสามารถทำกำไรได้

3. ควบคุม (ลด) รายจ่าย
หลายคนอาจสงสัยว่า ข้อนี้มันเกี่ยวกับ Buffett ตรงไหน ซึ่งผมว่า เกี่ยวโดยตรงเลยครับ และเป็นหลักที่ทุกคนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงินน่าจะเริ่มทำเป็นอย่างแรกด้วย หากได้ศึกษาชีวิตของ Buffett จะพบว่าเขาเป็นคนที่สมถะมากๆ อาจเรียกว่า ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ก็ได้ ตัวอย่างเช่น การอยู่บ้านหลังเดิม (ขนาด 3 ห้องนอน) ที่ Nebraska มาแล้ว 50 ปี โดยไม่ได้ย้ายไปอยู่คฤหาสน์ใหญ่ๆ ตามเงินที่มีมากขึ้น เป็นต้น  บางคนอาจมองว่าเป็นการสร้างภาพ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และเป็นแนวคิดหลักในการลงทุนของเขาด้วย คือ เน้น "คุณค่า"
คิดอีกแง่นึงคือ หากเราทำงานได้เงินเพิ่มเรื่อยๆ แต่รายจ่ายนับวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจแซงรายได้ไป ร้ายกว่านั้น คือ มีหนี้ท่วมตัว เราจะถึงวันที่ได้รับอิสรภาพทางการเงินได้อย่างไร จริงไหมครับ
 
ใครสนใจแนวทางดำเนินชีวิตของ Buffett ลองอ่านบทความนี้ดู เขียนสรุปได้ดีครับ

มาสรุปกลยุทธ์กันอีกครั้งครับ
1. พยายามหาเงินมาลงทุนให้เยอะที่สุด
2. ทำยังไงก็ได้ให้ผลตอบแทนชนะตลาดเสมอ หรืออีกนัยนึงคือ "อย่าขาดทุน"
3. ควบคุม (ลด) รายจ่าย 

ปล. ติชม/เสริม ได้เต็มที่เลยนะครับไว้วันหลังจะมาตกผลึกประเด็นอื่นๆ ต่อครับ

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...