Saturday, July 21, 2012

Learn from Buffett : เริ่มต้นคิดการใหญ่

ผมมีความเชื่อว่า หลายๆคน (เอ๊ะ หรือว่าทุกคน) มีความฝันที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน นั่นก็คือ การที่สามารถทำในสิ่งที่เราต้องการจะทำ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะไม่มีเงินใช้ หรือไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัว ซึ่งแนวทางที่จะได้มาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน ก็มีอยู่หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มลงทุนทำธุรกิจเอง, การทำธุรกิจห้องเช่า, ซื้ออสังหาริมทรัพย์พวกคอนโดต่างๆ ไว้ขายเก็งกำไร, หรือการลงทุนในหุ้น (มีมากกว่านี้อีกเยอะ)

สำหรับผมก็มีความฝัน ที่จะมีอิสรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน โดยตกลงปลงใจเลือกแนวทางการลงทุนในหุ้น และมี Idol ในดวงใจด้านการลงทุน ก็คือ Warren Buffett สุดยอดนักลงทุนของโลกในปัจจุบัน ซึ่งตัว Buffett เอง เป็นคนที่รักการลงทุนมาก และเก่งมากเรื่องการคำนวณตัวเลขต่างๆ หากใครยังไม่ทราบ อาจตกใจว่า Buffett เริ่มต้นลงทุนในหุ้น ตั้งแต่ อายุแค่ 11 ขวบ แล้วก็ลงทุนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็อายุได้ 83 ขวบกว่าแล้ว ซึ่งหลังจากที่ผมได้ศึกษาเรื่องราวการลงทุนของ Buffett มาสักพักใหญ่ ก็เลยอยากเขียนสรุป แนวทางการลงทุนของ Buffett เอาไว้ใน Blog นี้ เป็นการตกผลึกสิ่งที่เรียนรู้มา และแบ่งปันให้เพื่อนๆ ช่วย Share และ Comment กันครับ

สำหรับ Post นี้ขอสรุปกลยุทธ์การลงทุนของ Style Warren Buffett สำหรับผู้เริ่มต้น "คิดการใหญ่" เป็น 3 ข้อ ดังนี้ ครับ

1. พยายามหาเงินมาลงทุนให้เยอะที่สุด  
ในช่วงเด็กๆ Buffett พยายามหาเงินสารพัดวิธี เรื่องที่โด่งดังน่าจะเป็น ตอนที่ครอบครัวของเขาไปพักผ่อนที่ทะเลสาบแถวรัฐ Iowa ตอนนั้น Buffett ซึ่งมีอายุเพียง 6 ขวบ ได้ซื้อ Coke เป็น Pack 6 กระป๋องในราคา 25 cents (100 cents = 1$) แล้วก็เดินขายคนแถวนั้น ในราคากระป๋องละ 5 cents สรุปแล้วได้กำไรมา 5 cents (กำไรเกือบ17%) นับเป็นการหาเงินครั้งแรก ต่อจากนั้นก็ทำงานหาเงินเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น การเป็นพนักงานร้านขายของชำ (ของครอบครัว), เป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ Washington Post, หรือการซื้อ โต๊ะ Pinball มาตั้งแถวร้านตัดผมข้างบ้าน ก็ทำกำไรให้มหาศาล

สำหรับ จุดเริ่มต้นในการรวบรวมเงินมาลงทุนแบบจริงจังของ Buffett เริ่มปี 1956 ตอนนั้น Buffett ได้จัดตั้ง Buffett Associates, Ltd. (ตามคำร้องขอของเพื่อนบ้านให้ช่วยลงทุนให้หน่อย)  และต่อมาเปลี่ยนเป็น Buffett Partnership Limited (BPL)   โดยนำเงินไปลงทุนในหุ้น และตราสารอื่นๆ โดย BPL จะจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย 6% (หากปีนั้นๆ BPL มีกำไร) ให้กับหุ้นส่วน สำหรับกำไรส่วนที่เกิน 6% นั้น 3/4 จะจ่ายเพิ่มให้หุ้นส่วนปกติ และ 1/4 ของกำไรที่เกิน 6% ถือเป็นผลตอบแทนในการบริหารกองทุน (Buffett ได้เงินเพิ่มตรงส่วนนี้) ซึ่งในช่วงเริ่มต้น Buffett ลงเงินใน BPL เพียง $100 (โดยมีทรัพย์สินส่วนตัว ณ ตอนนั้น $140,000) จากนั้นก็บริหาร BPL และเติมเงินส่วนใหญ่ของเขาใน BPL ต่อเนื่องมาจนถึงปี 1969 (ผ่านไปประมาณ 14 ปี) มูลค่าสินทรัพย์ของ Buffett เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ($25,000,000) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 180 เท่า แต่แล้วเขาก็ได้ตัดสินใจยุบ BPL (โดยให้เหตุผลประมาณว่าตลาดตอนนั้นแพงมาก หาหุ้นถูกไม่เจอ) แล้วก็หันมาบริหารเฉพาะ Asset ที่เหลือหลังจากการยุบ BPL ก็คือ บริษัท Berkshire Hathaway  ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสิ่งทอเป็นหลัก ซึ่งตัวอุตสาหกรรมเองไม่ได้มีอนาคตที่สดใสเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นที่ Buffett ซื้อบริษัทนี้ เพราะต้องการกระแสเงินสดที่ค่อนข้างใช้ได้ นอกจาก Berkshire ก็ยังมีหุ้นของบริษัทอื่นๆ ด้วย ซึ่งเขาก็ใช้กระแสเงินสดจาก Berkshire นั่นเอง

หลังจากลงทุนไปเรื่อยๆ Buffett ก็ได้พบความมหัศจรรย์ของธุรกิจหนึ่ง ก็คือ ธุรกิจประกันภัย ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็พอรู้เกี่ยวกับธุรกิจนี้มาบ้างแล้ว โดยบริษัทที่เขามีความผูกพันมากก็คือ บริษัท GEICO เป็นบริษัทประกันภัยรถยนต์ในสหรัฐฯ ที่มีจุดเด่นคือ ต้นทุนที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม สำหรับจุดเด่นที่สำคัญของบริษัทประกัน ก็คือ เป็นธุรกิจ ที่ อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ยืมใช้ก่อน จะจ่ายคืนให้ก็ต่อเมื่อมี Claim ซึ่งหากมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีแล้ว ก็จะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างดี จะเรียกว่า เป็น "เครื่องปั๊มเงิน" ก็ได้ โดย Buffett เรียกเงินที่มาจากบริษัทประกันภัยที่เอาไว้สำหรับการลงทุนว่า "Float" เป็นเงินที่ไหลเข้ามาตลอดเวลา และหากนำไปลงทุนได้เหมาะสม "Float" ก็จะงอกเงยขึ้นไปอีก

นอกจากบริษัทประกันภัยแล้ว Buffett จะเลือกลงทุนในบริษัทที่ีมี Cash Flow ที่ดี และมีความสามารถในการแข่งขันสูง หรือเรียกว่ามี DCA (Durable Competitive Advantage) หากเปรียบเทียบการลงทุนของ Buffett ก็เหมือนการทำสงครามสร้างอาณาจักร ไล่ซื้อ บริษัท หรือ "เมือง" ที่มี "คูเมือง" (Moat) ที่ลึกพอ ศัตรูโจมตีได้ยาก โดย บริษัทที่เป็นขวัญใจตลอดกาล ก็คือ โค้ก (Coca Cola) ซึ่งทุกวันนี้เขาก็ยังดื่ม Coke Cherry เป็นประจำ (เมืองไทยไม่มีขายนะ เมื่อก่อนเคยขาย แต่ไม่ Work สงสัยว่าคนไทยจะชอบแบบซ่าๆ Coke Cherry ออกแนวหวานๆ)

2. ทำยังไงก็ได้ให้ผลตอบแทนชนะตลาดเสมอ หรืออีกนัยนึงคือ "อย่าขาดทุน" 
ช่วงที่ยังเป็น PBL เขาพยายามเน้นย้ำว่าในรายงานประจำปี ว่าแนวทางการลงทุนของเขา เป็นแบบ Conservative สุดๆ โดย Buffett ชอบเปรียบเทียบให้ดูเสมอๆ ว่า เขาพอใจผลงานในปีที่ตลาดติดลบ 20% แต่เขาติดลบเพียง 10% มากกว่าปีที่ตลาดมูลค่าเพิ่มขึ้น 30% แต่เขาทำได้เพิ่มขึ้น 35% ครับ (เลขไม่เป๊ะเหมือนที่ Buffett เขียน อย่าว่ากันนะครับ ยกตัวอย่างเฉยๆ)

กลยุทธ์การจัดแบ่ง Portfolio
Buffett จะแบ่ง Portfolio เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. "General" ก็คือ หุ้นปกติที่เราซื้อขายกัน ราคาขึ้นลงตามสภาพตลาด ถือประมาณ 60-70% ของ Asset ทั้งหมด ช่วงแรกเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า มูลค่าทางบัญชี (Book Value) ตามแนวทางของ อ.Graham แต่ภายหลัง Buffett ได้ไปเจอกูรูอีกท่าน คือ อ.Fisher ก็เลยปรับกลยุทธ์เป็นการซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยม ในราคาสมเหตุสมผล


2. "Work-outs" อันนี้คือ พวกไม่ปกติ คือ ขึ้นกับการกระทำต่างๆ ของบริษัทเอง ไม่ขึ้นกับภาวะตลาด ตัวอย่างเช่น การประกาศควบรวมกิจการ (Mergers), liquidations, reorganizations เป็นต้น พวกนี้จะมีกำหนดระยะเวลาลงทุนที่ค่อนข้างแน่นอน และส่วนใหญ่จะได้กำไรคิดเป็น % ไม่เยอะ แต่ Buffett คิดว่าปลอดภัยสูง เลยกู้เงินเพิ่ม (เหมือนใช้ Margin) มาลงทุนพวกนี้ด้วย กลุ่มนี้สมัยใหม่น่าจะเรียกว่าการทำ "Arbitrage"

3. "Control" คือ ไล่ซื้อหุ้นจนสามารถควบคุมกิจการได้ ดังนั้น ราคาหุ้น ก็จะไม่ถูกกำหนดโดยตลาดอีกต่อไป จะถูกกำหนดด้วยมูลค่าของ Asset ของกิจการ หรือความสามารถในการทำกำไรเอง พวกนี้ก็ซื้อเก็บไว้ดูเล่น ยาวๆ เลย ส่วนใหญ่กลุ่ม "Control" นี้ก็จะมาจาก กลุ่ม "General" ที่ซื้อจนควบคุมกิจการได้ ช่วงแรกๆ มีคนมาขอซื้อต่อก็ขาย แต่ตอนหลังกำไรส่วนใหญ่ของ Berkshire ก็มาจากผลประกอบการของบริษัทในเครือ

ด้วยกลยุทธ์ การจัด Portfolio แบบนี้ประกอบกับความสามารถในการประเมินมูลค่าธุรกิจของ Buffett ทำให้ผลการลงทุนของ Berkshire เหนือกว่าตลาดมาโดยตลอด โดยเฉพาะปีที่ตลาดติดลบ Berkshire ก็ยังสามารถทำกำไรได้

3. ควบคุม (ลด) รายจ่าย
หลายคนอาจสงสัยว่า ข้อนี้มันเกี่ยวกับ Buffett ตรงไหน ซึ่งผมว่า เกี่ยวโดยตรงเลยครับ และเป็นหลักที่ทุกคนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงินน่าจะเริ่มทำเป็นอย่างแรกด้วย หากได้ศึกษาชีวิตของ Buffett จะพบว่าเขาเป็นคนที่สมถะมากๆ อาจเรียกว่า ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ก็ได้ ตัวอย่างเช่น การอยู่บ้านหลังเดิม (ขนาด 3 ห้องนอน) ที่ Nebraska มาแล้ว 50 ปี โดยไม่ได้ย้ายไปอยู่คฤหาสน์ใหญ่ๆ ตามเงินที่มีมากขึ้น เป็นต้น  บางคนอาจมองว่าเป็นการสร้างภาพ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และเป็นแนวคิดหลักในการลงทุนของเขาด้วย คือ เน้น "คุณค่า"
คิดอีกแง่นึงคือ หากเราทำงานได้เงินเพิ่มเรื่อยๆ แต่รายจ่ายนับวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจแซงรายได้ไป ร้ายกว่านั้น คือ มีหนี้ท่วมตัว เราจะถึงวันที่ได้รับอิสรภาพทางการเงินได้อย่างไร จริงไหมครับ
 
ใครสนใจแนวทางดำเนินชีวิตของ Buffett ลองอ่านบทความนี้ดู เขียนสรุปได้ดีครับ

มาสรุปกลยุทธ์กันอีกครั้งครับ
1. พยายามหาเงินมาลงทุนให้เยอะที่สุด
2. ทำยังไงก็ได้ให้ผลตอบแทนชนะตลาดเสมอ หรืออีกนัยนึงคือ "อย่าขาดทุน"
3. ควบคุม (ลด) รายจ่าย 

ปล. ติชม/เสริม ได้เต็มที่เลยนะครับไว้วันหลังจะมาตกผลึกประเด็นอื่นๆ ต่อครับ

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...